1.สถาปัตยกรรมยุคแรกของภูเก็ต
รูปแบบของบ้านเรือน เกิดการขยายตัวของชุมชน เนื่องจากคนจีนอพยพเข้ามาในภูเก็ตสมัยรัชกาลที่ 3-5 เพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ และค้าขาย คนเหล่านี้ได้สร้างบ้านเรือนอาศัยอย่างถาวรโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดมาจากประเทศจีนมีเอกลักษณ์เฉพาะคือใช้วัสดุในการก่อสร้าง เป็นดิน หรือดินเผา แทนการใช้ไม้หรือไม้ไผ่เหมือนบ้านเรือนคนไทยกำแพงบ้านก่อเป็นฝาผนังทั้งสี่ด้าน เจาะช่องประตูหน้าต่าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผา ส่วนมากปลูกทรงเตี้ยๆ เนื่องจากกำแพงดินไม่อำนวยให้ก่อสูงได้มากนัก เสี่ยงต่อการพังลงมาได้ ปัจจุบันหาดูได้ เพียงบางส่วนในตลาดอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเมืองภูเก็ตสมัยก่อน
2.สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส
ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ ได้สร้างบ้านตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของตน ซึ่งช่างชาวจีนได้นำผังการก่อสร้างไปดำเนินการ แต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมได้เพี้ยนไปจากเดิมโดยได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน มีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “ชิโน-โปรตุกีส” ซึ่งมาจากคำว่า “Sino” หมายถึงคนจีน รวมกับคำว่า “Portuguese” หมายถึง โปรตุเกส นั่นเอง
สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนยุโรป หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สถาปัตยกรรมชีโน-ยูโรเปียน (Sino - European Architecture) และมีรูปแบบ สถาปัตยกรรมแบบยุโรป ที่มีอิทธิพลต่ออาณานิคม ด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ในตัวอาคารจำพวกเสารูปแบบต่างๆ ได้แก่ เสาแบบโดริก ไอโอนิก โครินเธียน และแบบคอมโพสีต ทั้งเสาแบบกลมและแบบเหลี่ยม ประกอบคิ้วบัวเหนือเสาในแต่ละแบบ นอกจากเสาแล้วที่เห็นได้ชัดเจน คือ รูปโค้งแบบต่าง ๆ คือโค้งแบบโรมัน แบบระนาบ แบบโอจี แบบโกธิก แบบระฆัง เป็นต้น ช่างในยุคนั้นได้นำสถาปัตยกรรมของชาติตนมาผสมผสานแบบท้องถิ่นดั้งเดิม รวมกับสถาปัตยกรรมแบบจีน จึงปรากฏงานก่อสร้างจำนวนมากในตัวเมืองภูเก็ต
3.สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนถลาง (Shop House)
ตึกแถวจะมีรูปแบบเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้า กึ่งที่อยู่อาศัย ตัวอาคารมีลักษณะลึกและแคบ หน้าตึกแถวมีทางเดินเท้า ทำเป็นช่องซุ้มโค้งเชื่อมต่อกันตลอดทั้งแนวตึก เรียกว่า อาเขต หรือ หง่อคาขี่ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนชั้นล่างแบ่งพื้นที่ใช้สอยไปตามความลึกได้ถึงห้าส่วน
- ส่วนที่ 1 ประตูด้านหน้าเป็นประตูบานเฟี้ยมเหล็กหรือบานเฟี้ยมไม้ เสาบ้านมีเอกลักษณ์ ตกแต่งหัวเสาโดยใช้ลายปูนปั้นสวยงาม เชื่อกันว่าลักษณะของบ้านรูปแบบนี้เปรียบเสมือนมังกร บริเวณหน้าบ้านตกแต่งคล้ายหน้ามังกร โดยเปรียบประตูหน้าต่างหน้าบ้านเป็นหน้ามังกร มีประตูเป็นปาก มีหน้าต่าง2บาน เป็นตา มีช่องลมเหนือหน้าต่างเป็นคิ้ว
- ส่วนที่ 2 พื้นที่ด้านหน้าเป็นร้านค้า หรือสำนักงานหากไม่ใช้เป็นร้านค้าก็จะใช้เป็นห้องรับแขก ห้องพักผ่อน
- ส่วนที่ 3 เดินผ่านปากมังกรก็จะเข้าสู่ตัวบ้านที่ถือว่าเป็นท้องมังกร บริเวณนี้มีบ่อน้ำกลางบ้าน เรียกว่า “ชิมแจ้” ใช้เป็นพื้นที่สำหรับซักล้าง โดยด้านบนเปิดโล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้ามา เนื่องจากตัวบ้านมีลักษณะแคบและยาวการสร้างช่องเปิดโล่งบนบ่อน้ำนี้จึงเป็นส่วนช่วยให้บ้านสว่างและไม่ร้อน
- ส่วนที่ 4 สุดก่อนสุดท้ายส่วนท้ายของบ้านจะเป็นห้องอาหารและห้องครัวติดกัน
- ส่วนที่ 5 มักทำเป็นห้องน้ำเปรียบเสมือนหางมังกร
ชั้นสองของบ้านเป็นห้องนอน ซึ่งเรียกพื้นที่ชั้นนี้ว่า“หล่าวเต้ง”ชั้นสองของตัวบ้านถูกสร้างให้ที่ยื่นล้ำออกมาเป็นหลังคากันแดดกันฝนสำหรับหง่อคาขี่ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นสถาปัตยกรรมรูปมังกรที่เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย
4. คฤหาสน์ของคหบดี หรือ อังมอเหลา
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนภูเก็ตไม่สามารถติดต่อกับกรุงเทพซึ่งเป็นเมืองหลวงได้สะดวกนัก ถึงแม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟมาถึงกันตัง จังหวัดตรังแล้วก็ตาม การเดินทางยังต้องใช้เวลา 3 – 4 วัน บางครั้งเป็นสัปดาห์ เมื่อเทียบกับการติดต่อระหว่างภูเก็ตกับเกาะปีนัง โดยทางเรือกลไฟใช้เวลาเพียง 1 วัน ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจ นายเหมืองชาวภูเก็ตจึงสมัครใจเดินทางไปปีนังมากกว่าจะไปกรุงเทพ แม้แต่การส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาของผู้มีฐานะในภูเก็ต ก็มักจะส่งไปเรียนที่ปีนัง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปีนังได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ มีศิลปะรูปแบบของยุโรปผสมจีน ซึ่งใหม่ แปลกและสวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นที่น่าสนใจของชาวภูเก็ตในระดับผู้มีฐานะ ที่จะมีโอกาสได้ไปพบเห็น ฉะนั้นการถ่ายทอดแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าว จึงเกิดขึ้นด้วยการนำแบบแปลนและช่างผู้ทำการก่อสร้างมาจากปีนังเป็นจำนวนมาก มาสร้างบ้านเป็นที่พักของผู้มีฐานะ เราเรียกบ้านลักษณะนี้ว่า “อังมอเหลา”
อังมอเหลา เป็นคฤหาสน์หลังงามของบรรดาเศรษฐีนายหัวเหมืองแร่ ของภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันในภูเก็ตยังเหลืออยู่นับสิบป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกิส ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างศิลปะ ความเชื่อแบบจีน กับการออกแบบ แนวตะวันตก เช่น การตกแต่งหัวเสา ด้วยลายปูนปั้นรูปค้างคาว นกพิราบ หรือก้อนเมฆ ตามคตินิยมจีน เป็นต้น อั่งหม่อหลาวที่อยู่ในตัวเมืองภูเก็ต ที่ยังคงความงาม ทางด้านสถาปัตยกรรม