ประเพณีแต่งงาน
พิธีผ๋างเต๋
คุณพ่อนั่งทางซ้าย คุณแม่นั่งทางขวา เจ้าบ่าวเจ้าสาวไหว้พ่อแม่พร้อมกัน เพื่อนเจ้าบ่าวยื่นถ้วยน้ำชาให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวคารวะ คุณพ่อคุณแม่รับไหว้ด้วยการยกถ้วยน้ำชาขึ้นดื่ม พร้อมวางซองอั่งเปา หรือ ของมีค่าอื่นๆ เช่น โฉนดที่ดิน เพชร ทอง ลงในถาดน้ำชา เพื่อนเจ้าบ่าวจะบอกแก่คนทั่วไปว่า พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวให้อะไรบ้าง จากนั้นก็ไหว้อาแป๊ะ อาอึ้ม พี่เจ้าสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาวจะส่งผ้าคู่ให้พี่เจ้าสาว
อึ่มหลางเชิญคุณพ่อคุณแม่เจ้าสาวส่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นรถ แล้วเชิญทุกคนร่วมงานเลี้ยง เจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นรถลาก หรือรถเก๋ง( รถปาเก้ ) ไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมที่อ๊ามปุดจ้อตามประเพณีนิยม พร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว.
ตรุษจีน(Chinese New Year)
ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน โดยส่วนมากเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน จะมีระยะวันตรุษจีนทั้งสิ้นรวม 9 วันนับตั้งแต่ขึ้นปีใหม่จะต่างกับชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งวันตรุษจีนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 7 โดยวันตรุษจีนของชาวภูเก็ตจะสิ้นสุดลงเมื่อหลังเที่ยงคืนของวันที่ 9 หรือ วันป่ายทีก้องไหว้เทวดา
ประเพณีไหว้เทวดา (Chinese God Worship Day)
ประเพณีไหว้เทวดา เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 9 วัน วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นการบูชาเทวดาเพื่อให้ท่านปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข การตั้งโต๊ะบูชา จะพยายามตั้งโต๊ะให้สูงที่สุด เพื่อจะได้ใกล้สวรรค์ ด้วยความเชื่อ ว่าเป็นที่อยู่ของเทวดา หรือ ทีกง ในภาษาฮกเกี้ยน บางบ้านต่อขาเก้าอี่และโต๊ะถึง ๓ ชั้น เพื่อตั้งโต๊ะบูชา บางโต๊ะปูผ้าแดงและปิดหน้าโต๊ะด้วยผู้สีแดงปักลายมังกรอย่างวิจิตรพิสดาร เรียกว่า โต๊ะอุ๋ย หน้าโต๊ะบูชาตกแต่งด้วยอ้อยคู่ ตกแต่งด้วยกระดาษสา แกะสลักเป็นริ้วสีเหลืองปลิวไสยยามลมพัด ข้ออ้อยแต่ละข้อประดับกระดาษแดง ตัดลายฉลุเช่นเดียวกับของเซ่นทุกชนิดที่นิยมตกแต่งด้วยกระดาษแดงแต่ลายฉลุวิจิตรงดงามมาก อันเป็นที่มาของศิลปะการตัดกระดาษเป็นลวดลายต่าง ๆ ริมขอบโต๊ะ ด้านนอกวางน้ำตาลกรวดหล่อเป็นรูปเจดีย์เรียกว่า หง้อสิ่ว ของไหว้แบ่งไปตามความเชื่อ บางบ้านอาจไหว้ของคาวเรียกว่า หง้อเซ้ง ซึ่งอาจมีไก่ตอนและหมูต้มชิ้นโต กุ้ง ปู ปลาหมึก บางครอบครัวเชื่อว่าเทวดาเป็นเทพ ไม่รับประทานอาหารคาว เช่น เนื้อสัตว์ก็จะไหว้เฉพาะของหวาน น้ำชาและผลไม้ ของหวานที่ใช้ไหว้มีความหมายและชื่อที่เป็นมงคล ขนมถ้ววยฟู ภาษาฮกเกี้ยนเรียกว่า ฮวดโก้ย (ฮวด แปลว่า เจริญ เฟื่องฟู โก้ย แปลว่า ขนม) ข้าวเหนียวแดงกวน (บีโก้) ตกแต่งบนจานขนมข้าวเหนียวแดงกวนด้วยไข่ต้มย้อมสีแดง ของหวานที่สำคัญ คือขนมเต่า มี ๓ ชนิด ถ้าพิมพ์ลายเป็นตัวหนังสือเรียงว่า อังกู้ กลมแดงแต่ไม่มีลายเรียกว่า อั้งอี๋ (อั้ง แปลว่า แดง อี๋ แปลว่า กลม) ขนมเต่ายาว ๆ พิมพ์คล้ายข้อนิ้วชี้ เรียกว่า อั้งข้าน ไส้ขนมทั้ง ๓ ชนิด ทำจากถั่วเขียวและเลาะเปลือกกวนกับน้ำตาลทรายจนเหนียวปั้นได้ นอกจากนี้ขนมแห้งหลายชนิดผสมกับจันอับ เรียกว่า แต่เหลี่ยว ไหว้รวมกับเครื่องดื่มยอดนิยมของคนจีน คือ น้ำชา ๑๒ ถ้วย ผลไม้จำเป็นสำหรับพิธีไหว้เจ้าของคนจีน ประกอบด้วยผลไม้ ๕ ชนิด คือ แตงโม ส้มจีน กล้วย สาลี่และสับปะรด ซึ่งถือเป็นเคล็ดสำคัญในการไหว้ เพราะภาษาฮกเกี้ยน เรียก สับปะรด ว่า อ่องหลาย (อ่อง แปลว่า โชค หลายแปลว่า มา) นอกจากนี้ บางบ้านยังนิยมไหว้ผลไม้ดองน้ำผึ้ง ที่มีรสหวาน เช่น ลูกสมอดอง ภาษาฮกเกี้ยนเรียกขอดวงเหล่านี้ว่า บิดเจี่ยน (บิดแปลว่า น้ำผื้ง เจี่ยน แปลว่า ขนม) สำหรับครอบครัวที่ไหว้ของคาว มักจะไหว้ข้าวสุกในถ้วยตะไลพูนถ้วย เติมผลพุทธาแดงแห้ง ปักไว้ตรงกลาง คงเป็นเพราะเชื่อว่า ชื่อเป็นมงคล ซึ่งเรียกว่า อั้งโจ้ว ซึ่งแปลว่า สีแดง
การตั้งโต๊ะไหว้เทวดา หรืองานวันตรุษจีน จะมีคณะเชิดหุ่นกาเหล้ มีคนเชิดหุ่น และคณะเล่นดนตรี มาแสดงหน้าโต๊ะบูชา โดยแสดงเรื่องราว เป็นภาษาจีน และกล่าวคำอวยพร ให้มีความเจริญรุ่งเรือง เสร็จแล้ว เจ้าของบ้านจะมอบของกำนัลให้คณะเชิดหุ่น เป็นค่าตอบแทนใส่ในซองสีแดง เรียกว่า อั่งเปา โดยได้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนถลาง กระบี่ เยาวราช พังงา รัษฎา ดีบุก ปฏิพัทธ์ และถนนวิชิตสงคราม ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากการออกไปแสดงหุ่นตามบ้านที่ตั้งโต๊ะบูชา เป็นช่วงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งต้องขออนุญาตจากสถานีตำรวจภูธร ก่อน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่ามีการหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้าน
๑. การรับจ้างวานให้แสดงแก้บน
ในกรณีที่มีผู้จ้างวานให้แสดง เพื่อแก้บน เนื่องจากไม่สบาย และบนไว้ว่าหากหายจากการเจ็บ
ป่วยจากจ้างคณะแสดงหุ่นจีนกาเหล้ มาแสดงให้เทวดาหรือเทพเจ้าได้ชม ซึ่งจะมีการตั้งโต๊ะบูชาเทวดา เช่นกัน
๒. การรับจ้างวานให้แสดงสาธิตในงานมงคลต่าง ๆ
ในกรณีที่มีผู้จ้างวานให้แสดงในงานพิธีการ มงคลต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ , งานเปิดร้านค้าใหม่ เป็นต้น
ทุกครั้งก่อนการแสดง ต้องบูชาเทพเจ้า ซึ่งเชื่อว่าในหุ่นแต่ละตัว มีเทพเจ้าประจำองค์ โดยการแสดงแต่ละครั้งถือว่า เป็นการแสดงให้เทพเจ้าได้ชมด้วย
ประเพณีผ้อต่อ ( Por Tor Festival )
งานผ้อต่อ (ภาษาคนภูเก็ต) หรือ วันสารทจีน ของจังหวัดภูเก็ต เป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ตปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนาน คำว่า ผ้อต่อ เป็นคำในภาษาจีน มีความหมายว่า การอนุเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ยาก ชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เทศกาลอุลลัมพน เทศกาลผ้อต่อ เป็นวันครึ่งปีตามคตินิยมของจีน มีการจัดพิธีบวงสรวง ด้วยการตกแต่งแท่นบูชา และเครื่องกงเต็กตามบ้านเรือน มีทั้งอาหารคาวหวาน ผลไม้ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวสาลีผสมน้ำตาลสีแดงปั้นเป็นรูปเต่า หรือที่เรียกว่าอังกู๊ เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานนี้ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วย้อมด้วยสีแดง บ้านคนที่มีฐานะที่ทำมาถวายจะมีขนาดใหญ่กว่า คนทั่วไปทำมาถวาย
โดยมีความเชื่อว่า เต่าเป็นพาหนะแห่งสวรรค์ มีอายุยืนยาว สามารถนำผู้คนข้ามแดนทุรกันดาร จนล่วงพ้นจากความทุกข์ยากทั้งปวง ซึ่งหลังจากเซ่นไหว้แล้ว ผู้คนก็มักนิยมนำมารับประทาน นัยว่าจะทำให้อายุยืนเหมือนเต่า
ประเพณีไหว้พระจันทร์ (The Chinese Moon cake Festival)
เป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณนับร้อย ๆ ปีวันไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันขึ้น 15 เดือน 8 ของจีนการไหว้พระจันทร์เป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึงไท้อิ่มเนี้ยเทพผู้บรรดาลความสุขสงบแก่สรรพสิ่งในโลก และถือว่าเป็นเทพที่มีความงามที่สุดองค์หนึ่งซึ่งจะเสด็จมาโปรดสัตว์โลกในคืนพระจันทร์เต็มดวงของที่นำมาสักการะสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ขาดไม่ได้ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ที่่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าดวงจันทร์โดยคนจีนจะเรียกขนมไหว้พระจันทร์ว่า ขนมเอี้ยปิ่ง ซึ่งมีความหมาย คือความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ และความสมหวังเดิมขนมไหว้พระจันทร์ของจีนมีส่วนประกอบ เช่น ถั่วแดง ลูกนัทจีน 5 ชนิดและเมล็ดบัว ปัจจุบันมีการประยุกต์ให้รสชาติถูกใจมากขึ้น เช่นใช้ทุเรียน ลูกเกาลัด และลูกพลับ ส่วนเครื่องปรุงที่เพิ่มเข้ามาเช่น เมล็ดบัว ไข่แดงเค็ม และเมล็ดแตงโม นอกจากนั้นยังมีการจัดผลไม้ต่างๆ เพื่อขอให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน และครอบครัวด้วย