เทศกาลกินเจ

เทศกาลถือศีลกินผัก (Vegetarian Festival)

มีการเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงงิ้วที่หมู่บ้านไล่ทู (ในทู) ซึ่งเป็นหมู่บ้านกระทู้ตำบลกระทู้อยู่นานแรมปี แล้วบังเอิญเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีถือศีลกินผักและสร้างศาลเจ้า หลังจากนั้นโรคภัยที่เป็นอยู่ก็หายจนหมดสิ้นชาวกระทู้จึงเกิดความเลื่อมใสปฏิบัติตาม ภายหลังมีการจัดพิธีกินผักตามแบบพิธีในมณฑลกังไสประเทศจีน ประเพณีถือศีลกินผัก ในจังหวัดภูเก็ต มีวันประกอบพิธีตรงกับวัน 1 ค่ำถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกๆ ปีเป็นเวลา 9 วัน เพื่อเป็นการชำระล้างบาปเคราะห์ ถือศีลปฏิบัติธรรมให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจ ได้ทำบุญให้ทาน และรำลึกถึงดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่คุ้มครองและบันดาลให้ร่มเย็นเป็นสุข 

โดยมีพิธีกรรมที่สำคัญ ดังนี้

พิธีอิ้วเก้ง

เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ เพื่ออวยพรให้กับประชาชน โดยมีขบวน ธงและป้ายชื่อแห่นำหน้าต่อด้วยเสลี่ยงเล็ก(ไท่เปี๋ย)จากนั้นเป็นขบวนของหนิ่วสั่ว (ร่มฉัตรจีน) ตามด้วย ตั่วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่

พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ) 

เป็นพิธีกรรมเพื่อชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์

พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) 

ทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปแทนตัวเอง พร้อมเงินตามศรัทธาและต้นกุ๊ยฉ่าย1 ต้น เดินข้ามสะพาน ให้ม้าทรงประทับตราด้านหลังของเสื้อที่สวม เรียกว่า ต๊ะอิ่น หมายถึงผู้ที่ผ่านการสะเดาะเคราะห์แล้ว

พิธีส่งพระ 

ในวันสุดท้ายของเทศกาลกินผัก ตอนกลางคืนจะมีการส่งองค์หยกฮ๋องซ่งเต่ ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้ง ก่อนห้าทุ่ม กลับสวรรค์หลังจากนั้นก็มีการส่งองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ที่ชายทะเลสะพานหิน เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ๊าม(ศาลเจ้า) ต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่วันรุ่งขึ้นทุกศาลเจ้าจะมีพิธีลงเสาโกเต้ง และสิ้วกุ้น (เชิญทหารกลับกรมกอง)