1.ชาวจีนโพ้นทะเล อพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้ เนื่องด้วยความแห้งแล้งจากภัยธรรมชาติ และสงครามกลางเมืองจีน (ราวปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19) ส่วนชาวจีนที่เข้ามาทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากเมืองเอ้หมึง มาตั้งถิ่นฐานบริเวณภูเก็ต ตรัง ระนอง เข้ามาเป็นกุลีรับจ้างทั่วไป กุลีเหมือง บ้างก็ประกอบอาชีพประมง การแต่งกายในยุคนี้เป็นการแต่งกายของชาวจีนเหมืองทั่วไป โดยใช้เสื้อผ้าสีดำ หรือน้ำเงิน เนื้อหยาบ เรียก “ผ้าต่ายเสง”
2. ผู้หญิงจะนุ่งกางเกงแพรสีดำ เสื้อคอจีนป้ายข้างกระดุมขัดทำด้วยผ้า (กระดุมป้อหลิว) สวมกำไลหยก
3. ผู้ชายแบบจีนยุคแรกๆของภูเก็ต จะมีเสื้อคลุมแพรจีนยาวทับกางเกงขายาว ชุดคลุมมีกระดุมเชือกถักยาวที่หน้าอก 4 ชุด และกระดุมเชือกถักสั้นที่คอ 1 ชุด (Changshan) สวมหมวกสีดำ คล้ายเจ้าพ่อในหนังจีน
4. การแต่งกายของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นนิยมนุ่งกางเกงชุดเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Kor) เป็นชุดที่ใช้ใส่ทั้งที่บ้านและออกนอกบ้าน ใช้ผ้าฝ้าย มีลวดลายเล็กๆสีอ่อน เช่น สีชมพู สีฟ้า โดยเสื้อกับกางเกงสีเข้าชุดกัน กางเกงขาใหญ่คล้ายกางเกงเล ต้องมีเข็มขัดคาดเอว ตัวเสื้อยาวประมาณสะโพก หรือคลุมสะโพก คอจีน ป้ายข้างผ่าตลอด ติดกระดุมป้อลิ่ว (กระดุมผ้า) ด้านในมีกระเป๋าใบเล็ก เพื่อใส่เงินหรือผ้าเช็ดหน้า
5. ชุดตึงผ่าว (ชุดกี่เพ้ายาว) และชุดเต่ผ่าว (ชุดกี่เพ้าสั้น) สองชุดนี้เป็นที่นิยมมาก ใส่ออกงานนอกบ้านไปงานสำคัญ เพื่อถ่ายรูป ใส่กลับบ้านเมื่อเจ้าสาวแต่งงานแล้วครบหกวัน นิยมใส่ตึ่งผ่าวมากกว่า ดูสุภาพเรียบร้อย ชุดแบบนี้เน้นทรวดทรง ผู้สวมใส่ต้องหุ่นดี สาวเปรี้ยวนิยมใส่แบบนี้
6. ชุดเสื้อครุยยาว (Baju Panjang) เป็นแฟชั่นยุคแรกๆ ของชาวภูเก็ตราวปี พ.ศ.2443– 2463 เป็นชุดครุยตัวยาว ลักษณะคล้ายชุด Tunic ตัดหลวมๆ ตัวเสื้อยาวประมาณน่อง แขนยาว ตรงปลายแขนเรียวสอบ คอเป็นรูปตัววี ผ่าหน้าไม่มีกระดุม ผ้านุ่งจะเป็นผ้าโสร่งปาเต๊ะ ตัวเสื้อนิยมตัดด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้ามัสลินจากเยอรมัน ผ้าป่านรูเปีย ผ้าฝ้ายพิมพ์ดอก สีที่นิยม ได้แก่ สีน้ำตาล สีอิฐ ต่อมาเริ่มนิยมผ้าป่านเนื้อบาง มองเห็นเสื้อตัวใน มือถือผ้าเช็ดหน้า กลัดติดเสื้อด้วย กอรอสัง (Kerosang: a set of three brooches or a set of mother and child) 1 ชุดมี 3 ชิ้น ตัวใหญ่สุดกลัดบนสุดของสาบเสื้อครุย อีก2 ตัวกลัดลดลั่นลงมา ตามความสวยงามเหมาะสม (ความยาวครุยวัดเหนือริมปาเต๊ะ ขึ้นมา 1 คืบ)
7.การแต่งกายของผู้ชายแบบประยุกต์ที่ค่อนมาทางยุโรป คือ เสื้อคอตั้ง กระดุมห้าเม็ด สวมหมวกกะโล่ ถือไม้เท้า เป็นลักษณะการแต่งกายของนายเหมืองทั่วไป ถ้าแต่งกายลำลองหรืออยู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นกางเกงขายาว เสื้อยืดคอกลม ทรงผมแบบรองทรง (สีกั๊กท่าว) บางคนใส่ขาสั้น สวมเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดคอกลมก็มี
8. ชุดครุยยาวที่ใช้เป็นชุดของเจ้าสาวในยุคแรกๆ ชุดโบราณ กู่ข้วน จะแตกต่างจากชุดครุยทั่วไป ตรงที่ผ้าที่ใช้ตัดชุดครุย โดยใช้เป็นผ้าเนื้อนิ่ม เช่นผ้าต่วน ผ้าซาติน นิยมใช้สีชมพูเท่านั้น
9. เด็กนั่งข้าง หมายถึงเพื่อนเจ้าสาว เนื่องจากผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยสาวอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จะต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่สามารถออกเที่ยวไปไหนมาไหน และเมื่อถึงวัยแต่งงาน จึงต้องใช้เด็กผู้หญิงแต่งกายเหมือนเจ้าสาวแต่ต่างกันที่เครื่องประดับบนศรีษะเท่านั้น เด็กนั่งข้างจะเกล้ามวย สวมเครื่องประดับศรีษะคล้ายหมวกสีทอง โดยช่างแต่งตัวเจ้าสาวเป็นผู้จัดเตรียมให้
10.การแต่งกายของผู้ชายแบบชุดสากล เสื้อเชิ้ตแขนยาวผูกเนคไท ใส่สูทโดยทั่วไปเจ้าบ่าวจะแต่งกายสวมเสื้อนอกแบบยุโรปเช่นกัน เพราะคนภูเก็ตค่อนข้างจะมีวิถีไปทางยุโรป เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะ เสื้อเจ้าบ่าวมักจะมีเข็มกลัดติดพู่สีชมพูตกแต่ง เพื่อความสวยงาม ชาวบาบ๋าในยุคนั้นจะมีคำเรียกการแต่งกายแบบสากลว่า “สวมแม่เสื้อ ใส่เกือกแบเร็ต”
11. ชุดแต่งงานของเจ้าสาวยุคถัดมา มีความวิจิตรงดงามตั้งแต่หัวจรดเท้า เสื้อครุยเจ้าสาวส่วนใหญ่จะใช้ผ้าลูกไม้โปร่งหรือผ้าป่านแก้ว ข้างในเป็นเสื้อคอตั้งแบบจีน ปลายแขนเสื้อจับจีบแบบเสื้อมาเลเซีย ตัวเสื้อสั้นลอยแบบพม่า ส่วนผ้านุ่งใช้ปาเต๊ะสีสดแบบชาวอินโดนีเซีย เครื่องแต่งกายที่ใช้บ่งบอกให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์ของชาวเพอรานากัน ไม่ใช่ชุดจีนหรือมุสลิมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เกิดจากการผสมผสานกันจนออกมาเป็นชุดที่สวยงามอลังการ ความเป็นจีนสะท้อนออกมาจากรูปแบบของชุดครุยที่คล้ายกับฉลองพระองค์ของฮองเฮา ขณะที่ความเป็นมุสลิมก็ปรากฏในลายปักที่ละเอียด จากเดิมคนจีนนิยมชุดสีแดงก็เริ่มมีสีม่วงของมุสลิมเข้ามาปน กลายเป็นสีอ่อนลงมา สวมทับด้วยครุยยาวผ้าป่านรูเบีย หรือผ้าแพรจีน สีที่นิยมคือ ชมพู ส้ม ครีม ฟ้า หรือโทนสีหวานๆ ลวดลายของครุยมักเป็นดอกไม้ แมลง หรือสัตว์มงคลตามความเชื่อ เครื่องประดับเป็นทองและเพชรอลังการ ใส่ตุ้มหูระย้า สวมสร้อยคอทอง เรียกว่า “สร้อยคอโกปี้จี๋” ที่หน้าอกเสื้อจะประดับประดาด้วยปิ่นตั้งที่ทำจากทองคำเหมือนรูปดาวเต็มหน้าอก ห้อยสายสร้อยทอง สวมแหวน กำไลมือ กำไลข้อเท้า นุ่งโสร่งปาเต๊ะ ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับเสื้อครุยและสวมรองเท้าลูกปัด ซึ่งผู้ใส่ต้องตัดเย็บเองโดยการสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น สตรีบาบ๋าเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ด้านงานฝีมือแม่บ้านการเรือน ในการเย็บปักถักร้อยไม่ว่าจะเป็น รองเท้าการฉลุผ้า คัตเวิร์ค การปักลูกปัด การเย็บหมอน ปลอกหมอน ม่านหน้าต่าง จากผู้ใหญ่ได้แก่ ยาย แม่ ป้า อา ซึ่งเป็นสมาชิกในบ้าน เพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นเจ้าสาวในอนาคต ความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสาวๆ เพราะเป็นคุณสมบัติที่จะต้องมีติดตัวก่อนที่จะออกเรือน รวมทั้งสืบทอดสิ่งงานฝีมือเหล่านี้สู่ลูกสาวของตนต่อไปในอนาคต
12. ชุดเสื้อครุยท่อน หรือเสื้อครึ่งท่อน ในภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “เสื้อปั่วตึ่งเต้” ปั่ว แปลว่าครึ่ง, ตึ๋ง แปลว่ายาว และเต้ แปลว่าสั้น มีความหมายรวมกันว่า ครึ่งสั้นครึ่งยาว มีลักษณะคล้ายเสื้อครุย แต่ขนาดความยาวของเสื้อสั้นขึ้นประมาณสะโพก ยังคงใส่เสื้อตัวใน เครื่องประดับและทรงผมยังคงลักษณะเดิม เปลี่ยนแปลงเฉพาะขนาดความยาวของเสื้อเท่านั้น
13. ต่อมาได้พัฒนาเสื้อให้มีความเหมาะสมกับภารกิจประจำวัน นิยมตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าป่าน ปรับให้สะดวกขึ้นโดยเปลี่ยนจากการสวมเสื้อสองชั้นมาเป็นเสื้อชั้นเดียว และไม่มีเสื้อคลุม เป็นการประยุกต์เสื้อสองตัวให้รวมเป็นหนึ่งเดียวโดยผสมผสานระหว่างเสื้อตัวในเสื้อคลุมข้างนอก ตัวเสื้อค่อนข้างหลวม มีทั้งชนิดที่เป็นผ้าป่านบางและผ้าพิมพ์ดอกหนา ไม่เข้ารูปมากนักมีหลายแบบ ได้แก่
* 13.1 เคบายาลินดา (Kebaya Renda) นิยมในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2463 –2473 นิยมใช้ผ้าป่านหลากสี หรือเป็นผ้าหนาชนิดมีลายดอก ปลายเสื้อด้านหน้าแหลมยาว แต่ด้านหลังจะสั้นกว่าคลุมสะโพก เข้ารูปเล็กน้อยไม่ถึงกับรัดรูป ชายเสื้อ ปลายแขนเสื้อ ขอบปกและคอเสื้อติดผ้าลูกไม้ถักจากยุโรป ฮอลันดาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตผ้าลูกไม้ทำมือ คนขายผ้าในภูเก็ต เรียกว่า รูเบีย แต่ชาวอังกฤษ เรียกว่า ออกันดี ลูกไม้ตกแต่งตัวเสื้อจะมีสีขาวเท่านั้น ใช้ชุดเครื่องประดับกอรอสังมีเข็มกลัด 3 ตัว กลัดโยงกัน ลักษณะเป็นลายเครือเถาช่อดอกไม้ หรือรูปสัตว์มงคลแมลงปอ ใบไม้โยงด้วยสายสร้อยเชื่อมต่อกัน ทำด้วยทอง ทองเหลือง หรือนาก โซ่ติดเสื้อแทนกระดุม เป็นเสื้อเข้ารูปในภาษามาลายูเรียกว่า “Kebaya” สำหรับชาวจีนเรียกว่า “ปั่วตึ่งเต้” (ครึ่งสั้นครึ่งยาว)
* 13.2 เคบายาบีกู (Kebaya Biku) นิยมในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2473 – 2483 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาแฟชั่นเสื้อของผู้หญิงบาบ๋าอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากความเจริญด้านเทคโนโลยีทำให้รูปแบบของเสื้อเปลี่ยนไป เสื้อแบบนี้มีการฉลุลายเล็กๆ ริมขอบสาบเสื้อด้านหน้ารอบสะโพกคล้ายคัตเวิร์ค ลายที่นิยมคือลายหอยแครง จักรเย็บผ้าสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ผ้าที่ใช้ตัดเสื้อเป็นผ้าพื้น ผู้หญิงบาบ๋าส่วนใหญ่จะปักลายของเสื้อด้วยตนเอง
* 13.3 เคบายาซูแลม (Kebaya Sulam) นิยมอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2483 – 2500 ลักษณะคล้ายเคบายาบีกู แตกต่างกันตรงลายฉลุที่งดงามกว่า เน้นการฉลุลายด้วยสีสันสวยงาม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เสื้อแบบนี้ปรากฏในภูเก็ตจนถึงประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อย่าหยา แบบเคบายาบีกู และเคบายาซูแลมค่อนข้างเน้นทรวดทรงมาก และเสื้อตัวในซึ่งเป็นเสื้อซับในปรับเปลี่ยนจากเสื้อคอกระเช้า ริมติดลูกไม้เล็กๆ มาเป็นเสื้อชั้นในบราเซีย
14. คนภูเก็ตส่วนใหญ่นิยมเสื้อบราเซียแบบเต็มตัว เป็นเสื้อชั้นในที่ต้องอาศัยช่างผู้มีความชำนาญในการเย็บเสื้อยกทรงโดยเฉพาะ ผ้าที่ใช้ตัดเป็นผ้าฝ้าย สีของเสื้อชั้นในจะต้องเข้ากันกับสีเสื้อ หรืออาจเป็นเสื้อชั้นในสีขาวแบบเต็มตัว แต่ปัจจุบันผู้หญิงกล้าที่จะอวดทรวดทรงมากขึ้น เสื้อบราเซียชนิดสั้นจึงเป็นที่นิยม เนื่องจากสะดวกกว่าเพราะมีขายทั่วไปไม่ต้องสั่งตัดเป็นพิเศษ
15. การแต่งกายของผู้หญิงในภูเก็ต มีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้นเนื่องจากการที่พ่อค้าชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่นิยมสวมเสื้อย่าหยา แต่นิยมสวมใส่เสื้อที่ตัดด้วยผ้าพื้นธรรมดา หรือลายดอกเล็กๆเป็นเสื้อเข้ารูป คอกลม คอกว้าง คอสามเหลี่ยม (คอแหลม) และคอสี่เหลี่ยม มีปกและไม่มีปก แขนกุดและแขนสั้น นุ่งผ้าโสร่ง
16. เสื้อผ้าลูกไม้และเสื้อลูกไม้ต่อดอกเข้ามามีอิทธิพลแทนเสื้อย่าหยา เป็นเสื้อที่ผู้หญิงชาวภูเก็ตประยุกต์มาจากเสื้อย่าหยาทั้งสามชนิด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดในการแต่งกาย ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวภูเก็ตมากกว่าเสื้อย่าหยา และเสื้อผ้าลูกไม้ใช้ได้กับผ้านุ่งทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผ้าปาเต๊ะ ผ้าซิ่น กระโปรง และกางเกง เสื้อผ้าลูกไม้และผ้าลูกไม้ต่อดอกเป็นเสื้อเข้ารูป เน้นทรวดทรง ลักษณะคอเสื้อที่นิยมคือ คอกลม คอสามเหลี่ยม คอสี่เหลี่ยม ไม่มีปก เป็นเสื้อเข้ารูปติดซิปหลัง หากผู้สูงอายุอาจติดกระดุมหน้า สำหรับแขนเสื้อนิยมแขนสั้นเหนือข้อศอกประมาณ 1 นิ้ว หรือเลยข้อศอกลงไปประมาณครึ่งแขน