ห้องช่างทอง

ปิ่นตั้ง

ปิ่นตั้งเป็นจี้สำหรับห้อยคอ หรือใช้กลัดติดเสื้อ มักออกแบบเป็นลายดอกไม้ กลีบหรือเกสรประดับเพชร อีกแบบหนึ่ง ออกแบบรูปทรงเป็นทรงนูนคล้ายหลังเต่าประดับด้วยเพชรหรืออัญมณีอื่นๆ ปิ่นตั้งในภาษามาเล แปลว่าดาว โดยมีจุดเด่นเป็นรูปทรงดาว 6 แฉก เครื่องประดับชิ้นนี้ มักใช้ประดับตกแต่งเป็นเซ็ทบนเสื้อครุยยาวจำนวนหลายๆชิ้น เจ้าบ่าวมักประดับปิ่นตั้งบนหมวกและปกเสื้อสูท ผู้ชายที่ติดปิ่นตั้งบนปกเสื้อสูทจะคิดว่าตนเองเป็นเจ้าชายหรือเป็นพวกขุนนางทางยุโรปมียศฐาบรรดาศักดิ์

ปิ่นปักผม

ปิ่นปักผมทำด้วยทองคำประดับเพชรลูกหรือเพชรซีก สมัยก่อนผู้หญิงมักไว้ผมยาว มีการเกล้ามวยผมเป็นสองแบบ แบบแรกเป็นการรวบผมตึงประมาณท้ายทอยแบบมวยต่ำ ใช้เข็มเหน็บมวยเพียงอันเดียวหรือสองอัน แบบต่อมา เป็นการเกล้ามวยสูงหรือที่เรียกว่า ชักอีโบย แบบนี้จะใช้เมื่อสวมชุดครุยยาว รอบมวยผมจะตกแต่งด้วยพวงมาลัยดอกไม้ ใช้เข็มเหน็บมวย 3, 5 หรือ 7 อัน ถ้าเป็นเจ้าสาวต้องปัก 6 อันเท่านั้น โดยผู้ที่ปักทางขวาคือสตรีที่ยังไม่แต่งงาน สตรีที่ปักทางซ้ายคือสตรีที่แต่งงานแล้ว วิธีปักอันแรกของปิ่นปักผมต้องให้อยู่กลางหน้าผากหรือตรงกลางจมูกของเจ้าสาวถึงจะถูกต้อง โดยปักจากอันเล็กไล่ระดับไปอันใหญ่ สำหรับชุดแต่งงานมวยผมจะประดับด้วยฮัวก๋วน (มงกุฏ) ติดดอกไม้ไหว ปักด้วยเข็มเหน็บมวยรอบด้าน

กอรอสัง (Kerongsang)

กอรอสัง เป็นเครื่องประดับสามชิ้น มีตัวใหญ่อยู่ด้านบนใต้ปกเสื้อตัวใน นิยมเรียก ตัวแม่ (mother piece, Kerongsangibu) ด้านล่างเรียกว่า ตัวลูก (child piece, Kerongsanganak) หรือที่เรียกว่า a set of mother and child ใช้กลัดแทนกระดุม สำหรับชุดเสื้อครุยมักมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือลูกพีช (Paisley Pattern) เป็นตัวแม่ ซึ่งเป็นจุดเด่นบนชุดครุยยาวของเจ้าสาว ตรงส่วนปลายของกอรอสังจะเอียงชี้ไปทางซ้ายเล็กน้อย คือชี้ไปที่หัวใจของผู้สวมใส่ มีตัวลูกจะทำเป็นวงกลมขนาดย่อมกว่าตัวแม่ 2 อัน ตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆกอรอสังอีกแบบหนึ่งจะเป็นชุดเข็มกลัด 3 ชิ้นมีโซ่เล็กๆ เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดๆ สามารถถอดโซ่ออกได้ กอรอสังส่วนใหญ่มักทำจากทองคำ เงิน นาก ประดับด้วยเพชรซีก หรือเพชรลูกนิยมใช้กับเสื้อย่าหยา

หลั่นเต่ป๋าย

หลั่นเต่ป๋าย เป็นสร้อยคอทองคำประดับเพชรลูกหรือเพชรซีก หรืออัญมณีอื่น ๆ ฉลุลายเครือเถารูปนกหรือแมลงและดอกไม้ มีความพริ้วไหวทำให้เวลาเคลื่อนไหวยิ่งทำให้เพชรระยิบระยับสะดุดตาแลดูอ่อนช้อย บางแบบสามารถถอดแยกชิ้นส่วน เป็นเข็มกลัด สร้อยมือหรือกลับหัวเป็นมงกุฎได้ด้วยมีความวิจิตรสวยงามตามรูปแบบของช่างทองชาวจีนในยุคนั้น

ต่างหู

ต่างหู มีหลากหลายลักษณะได้แก่ ต่างหูหางหงส์ เป็นต่างหูติดแนบกับใบหูลักษณะกลีบลายดอกไม้มีความอ่อนช้อย ทอดยาวคล้ายขนของหงส์ และ ต่างหูตุ้งติ้ง เป็นต่างหูที่ห้อยระย้า พริ้วไหวได้ เมื่อยามเดินหรือส่ายศีรษะไปมา เข้ากับชุดแต่งงานสาวจีนใส่คู่กับชุดแต่งงานแบบตะวันตก หรือชุดครุยยาวก็ได้ ต่างหูเหล่านี้ล้วนประดับด้วยเพชรลูก หรือเพชรซีก

สร้อยคอโกปี้จี๋

สร้อยคอโกปี้จี๋ เป็นสร้อยคอยาวลดลั่นหลากหลายความยาว ความกว้างและความหนา ดีไซน์ของสร้อยมีความน่าสนใจ มีพื้นผิวเรียบแกะลายสลับข้อโซ่ สร้อยโซ่นี้เอาไว้แต่งสื้อครุยยาว ประดับปิ่นตั้ง 6-12 ดอก 

กิมตู้น

กิมตู้น จี้ห้อยคอ มักนำเหรียญทอง ส่วนใหญ่เป็นเหรียญสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18ถึงต้นคริสตวรรษที่ 19นิยมนำมาตกแต่งล้อมรอบเหรียญ เป็นลายเครือเถา ลายสัตว์ต่างๆ ส่วนเหรียญที่รุ่นก่อนปลายคริสตวรรณที่ 18 นั้น จะเรียกว่า เหรียญแหม่มทูนหัว แบบหนึ่งอีกแบบมีขนาดเล็กกว่าแบบแรกใช้ทองคำ เงิน หรือนาก มาทำเป็นกระดุม โดยมีห่วงเล็กๆ อยู่ด้านหลัง แบบนี้ใช้สำหรับติดเสื้อคอตั้งแขนจีบ สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของผู้ที่สวมใส่ได้เป็นอย่างดี

จี้ฮัวหนา

จี้ฮัวหนา จี้แบบช่อดอกไม้ มีลวดลายอ่อนช้อยประดับด้วยเพชรเม็ดงาม ห้อยตุ้งติ้งลงมาจากช่อดอกไม้ อีกรูปแบบคือเป็นแบบพวงองุ่น สตรีบาบ๋านิยมสวมใส่กับชุดย่าหยา ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อลูกไม้โปร่ง กับผ้าปาเต๊ะ

กระเป๋าถักเงิน หรือทอง

กระเป๋าถักเงิน หรือทอง สมัยก่อนสตรีบาบ๋าจะใช้กระเป๋าเป็นเพียงเครื่องประดับ มีผ้าเช็ดหน้า 1 ผืนเท่านั้น กระเป๋ายุควิคตอเรียแบบตาข่ายนี้ดูอ่อนช้อย แต่แข็งแรงด้วยการผลิตคล้ายๆ กับวิธีทำกล่องเหล็ก ตรงสายกระเป๋าจะมีที่เกี่ยวคล้ายแหนบ เอาไปเหน็บกับเข็มขัดเงินหรือเข็มขัดทอง

กำไลข้อเท้า หมั้ยตีน

กำไลข้อเท้า หรือ หมั้ยตีน จะใส่เป็นคู่ มีการแกะฉลุลวดลายที่มีความหมายมงคล ทำด้วยทองคำแท้ ตีโปร่งทำให้มีน้ำหนักเบา บางวงก็เป็นทองเรียบ บ้างก็เหมือนเกลียวเชือก ข้อไผ่ มีหัวเป็นดอกบัวแสดงถึงความบริสุทธิ์และความสวยงามของเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน มีส่วนเว้าระหว่างรอยต่อเพื่อความสะดวกในการสวมใส่ หรือทำเป็นวงกลมที่มีสกรูเพื่อช่วยขยายขอบกำไล บ้างก็ใส่กระพรวนไว้ด้วย หมั้ยตีนนิยมใส่กับชุดครุยยาวเนื่องในโอกาสพิเศษหรือพิธีการที่สำคัญ เครื่องประดับทองจะถูกนำมาใช้ (หากไม่ใช่ทองก็จะชุบทอง) เป็นของประดับกาย เพื่อแสดงฐานะและความเชื่อทางประเพณี 

แหวนบาเย๊ะ

แหวนบาเย๊ะ คือ เครื่องประดับที่สวมใส่ติดตัวในชีวิตประจำวัน สำหรับคนบาบ๋านิยมทำแหวนเป็นลายดอกไม้ เรียกว่า แหวนหัวดอกพิกุล ใช้เพชรลูกเป็นหัวแหวน รายรอบด้วยเพชรซีก บ้างทำหัวแหวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเจ้าสาวจะต้องสวมแหวนบาเย๊ะหรือแหวนดอกพิกุลเป็นเลขคู่ หรือสวมแหวนให้ครบทั้งสิบนิ้วก็ได้ เป็นการแสดงออกถึงฐานะ ยศถาบรรดาศักดิ์ และแสดงออกถึงความมั่งคั่งมั่งมีของวงศ์ตระกูลนั้นๆ

เข็มขัด

สตรีบาบ๋านุ่งผ้าปาเต๊ะเก่งมาก ไม่ว่าจะทำงานบ้าน หรือ ออกไปธุระนอกบ้าน จะนุ่งผ้าปาเต๊ะได้อย่างสวยงาม และแน่นหนาดีด้วย ดังนั้นจึงต้องมีเข็มขัดอย่างน้อยคนละ 1 เส้น คนภูเก็ตเรียกเข็มขัดนี้ว่า สายเอว ซึ่งสายเอวที่ใช้มีทั้งทำด้วยทอง 90%, 95% หรือสายเอวนาค 40%, 45% หรือทำจากเงินก็มี ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สวมใส่

สร้อยมือเพชร

สร้อยมือเพชร มักเป็นลายดอกไม้ หรือเถาวัลย์

กำไลข้อมือเพชร

กำไลข้อมือเพชร ลายดอกไม้ หรือเถาวัลย์ ใช้เพชรลูกหรือเพชรซีกเรียงแถวตรงกลางใหญ่และลดหลั่นกันไป

กระดุมทอง

เสื้อคอตั้งแขนจีบสำหรับผู้มีฐานะจะใช้กระดุมทำด้วยทองฝังเพชรเนื่องจากเสื้อไม่มีกระดุม ต้องใช้กระดุม5-7เม็ดแบบเดียวกัน มีสายทองร้อยอยู่หลัง เพื่อยึดติดกระดุมไว้ รูปแบบของกระดุมจะเป็นดอกไม้ฝังด้วยเพชรซีก หรือเพชรลูก