เมืองจำลอง

อาคารธนาคารชาร์เตอร์

อาคารธนาคารชาร์เตอร์ เป็นธนาคารแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในภูมิภาคนี้ ประมาณปี พ.ศ. 2450 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยดำริของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดีฯ ได้ตัดสินใจติดต่อธนาคารชาร์เตอร์ หรือ ชาร์เตอร์แบงก์ขยายสาขาจากปีนัง มาเปิดที่ภูเก็ตโดยจัดสถานที่ทำการไว้ตรงหัวมุมสี่แยกตลาดใหญ่ บริเวณถนนภูเก็ต เป็นอาคารสองชั้นทรงชิโนโปรตุกีสซึงถือเป็นสถาปัตยกรรมยุคโรมันคลาสสิคที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี“ชาร์เตอร์แบงก์” จึงเป็นธนาคารแรกที่เปิดทำการในจังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่โอนรับจ่ายเงิน ซื้อ-ขายสินค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก

สถานีตำรวจ (ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ)

สถานีตำรวจ ต.ตลาดใหญ่เดิม (ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ) เป็นอาคาร 2 ชั้น โดดเด่นด้วยหอนาฬิกาสูง 4 ชั้น มีหลังคาคล้ายรูปหมวกตำรวจสมัยก่อน อาคารหลังนี้ เดิมสร้างเพื่อเป็นที่ทำการของตำรวจรักษาการ ซึ่งอยู่ตรงข้ามธนาคารชาร์เตอร์เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับธนาคารและต่อมามีการใช้อาคารหลังนี้เป็นสถานีตำรวจเพื่อบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว เรียกว่า ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ และยังเป็นที่ทำการของศูนย์ปฏิบัติการร่วมตำรวจกับมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต 

อาคารบริษัท เอกวานิชพี่น้อง จำกัด

บริษัท เอกวานิชพี่น้อง จำกัด ประกอบกิจการประเภทการเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นอาคารของตระกูลเอกวานิช มี 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูนชั้นล่างและชั้นบน มีหลังคาคลุมทางเดินและระเบียง ลักษณะเป็นซุ้มโค้งเตี้ย เสารับโค้งชั้นล่างเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุม หัวเสาเป็นแบบคอมโพสิต ส่วนเสาชั้นบนเป็นเสากลมคู่ ลักษณะหัวเสาและสัดส่วนคล้ายเสาในยุคทัสคัน ระเบียงชั้น 2 และหลังคามีลูกกรงระเบียงปูนปั้นหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง มีลายปูนปั้นเหนือช่องแสงพร้อมหินหลักประดับ มีการตกแต่งลวดลายอาคารบริเวณเสาและซุ้มโค้งด้วยลวดลายใบไม้ดอกไม้ที่สวยงามอ่อนช้อย

ซอยรมณีย์

ซอยรมณีย์ เป็นซอยที่เชื่อมต่อระหว่างถนนถลางและถนนดีบุก ตึกเก่าของซอยรมณีย์ได้รับการบูรณะใหม่โดยใช้สีสันสวยงาม บางหลังได้รับการตกแต่งใหม่ในสไตล์ Modern บางหลังตกแต่งแบบจีนดั้งเดิม และบางหลังยังคงร่องรอยของการผุพังไปตามกาลเวลา สถานที่นี้เคยเป็นย่านเริงรมย์ของชาวเหมืองในสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นที่พักอาศัย, ร้านค้า และโรงแรม

อาคารชุดถนนถลาง

อาคารชุดถนนถลาง เป็นเขตเมืองเก่าของชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่ภูเก็ต เป็นถนนสายประวัติศาสตร์มากว่า 150 ปี นับจากปี ค.ศ.1850 โดยพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ต มีระยะทางประมาณ 450 เมตร และเป็นย่านศูนย์กลางการค้าของชาวภูเก็ตในสมัยก่อน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในอดีต และยังคงรูปแบบอาคารตึกแถว(เตี้ยมฉู่) เกาะกลุ่มกันมากกว่า 140 คูหา ที่เรียกกันว่า ชิโนโปรตุกีส เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก 

ลกเที้ยน

ลกเที้ยน มีมานานและกว่า 70 ปี แต่เดิมเป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมตัน และได้ปิดตัวลงไป จนกระทั่งกลายมาเป็นศูนย์รวมอาหารท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ลกเที้ยนอยู่ตรงบริเวณแยกถนนเยาวราชลักษณะเป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ยกหลังคาสูง รายล้อมไปด้วยตึกโบราณ สไตล์ ชิโน-โปรตุกีสที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของร้าน ภายในรวบรวมร้านขายอาหารพื้นเมืองภูเก็ตหลายชนิด 

อาคารตึกแถว ถนนดีบุก

เป็นอาคารตึกแถวที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้มากที่สุด อาคารในย่านนี้ใช้เป็นบ้านพักอาศัยเพียงอย่างเดียว ประตูหน้าต่างชั้นล่างเป็นแบบจีน ส่วนชั้นบนมักเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมแบบที่เป็นซุ้มหน้าจั่ว ลวดลายปูนปั้นละเอียด

ภาพ Street Art

เมื่อเดินตามเส้นถนนถลาง ณ ฝั่งขวา ต้นซอยรมณีย์ จะสังเกตุเห็นภาพ Street Art ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ F.A.T. Phuket (Food Art Town) 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุน และประชาสัมพันธ์ หลัง จ.ภูเก็ต ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก UNESCO โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy

ภาพที่ 1 น้องมาร์ดี ในชุดงานพ้อต่อ ขนมเต่าสีแดง เครื่องหมายแห่งการมีอายุยืนซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาล งานพ้อต่อ บริเวณหางเต่ามีคำว่า “สมหวัง” 

ภาพที่ 2 เป็นรูปนกที่วาดขึ้นด้วยจินตนาการ จากขนมเด็กในวัยเรียน สะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนาน, สีสัน และความทรงจำในวัยเด็ก